10-3-2565_AI-เหมือนคนจริงจนแยกไม่ออก

เครดิตภาพจากคลิป : https://youtu.be/A8TmqvTVQFQ

เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หลาย ๆ คนอาจจะเคยเห็นคลิปวีดีโอที่นักแสดงสุดหล่ออย่าง ทอม ครูซ มาแสดงบท Iron man แทน โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่เหตุการณ์จริง เพียงแต่เป็นวีดีโอที่ถูกสร้างขึ้นจาก Deepfake

ใครยังไม่ได้ดู ไปดูวีดีโอได้ที่นี่เลย

https://www.youtube.com/watch?v=A8TmqvTVQFQ

Deepfake เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ AI มาวิเคราะห์ และประมวลผลอัตลักษณ์ส่วนบุคคล และปลอมแปลงอัตลักษณ์นั้น ๆ ขึ้นมาใหม่ โดยใช้ศาสตร์แขนงหนึ่งของ AI ที่เรียกว่า Deep learning ซึ่งทำให้ AI สามารถเรียนรู้และตัดสินใจกระทำบางสิ่งบางอย่างได้เอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้ออกมาดีที่สุด

ล่าสุดในปี 2022 นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 315 คน ลองทำการทดสอบทายใบหน้าว่า ใบหน้าไหนคือคนจริง ๆ และใบหน้าไหนที่เกิดจาก AI

ผลการทดลองเป็นที่น่าแปลกใจมาก เมื่อเราพบว่า กลุ่มตัวอย่างตอบว่าใบหน้าที่สร้างจาก AI เป็นของจริง สูงถึง 48.2% แต่กลับกัน กลุ่มตัวอย่างให้คำตอบกับใบหน้าของคนจริง ๆ ถูกเพียง 44.8%

นักวิจัยต่างก็งงเป็นไก่ตาแตก “ในตอนแรกเราคิดว่าใบหน้าสังเคราะห์จะเชื่อถือได้น้อยกว่าใบหน้าจริง แต่นี่มันไม่ใช่เลย”

AI ในปัจจุบัน สามารถสร้างใบหน้าที่เป็นอัตลักษณ์ของมนุษย์ได้สมจริง และอาจจะเชื่อถือได้มากกว่าใบหน้าจริง ๆ ของมนุษย์ไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นทั้งข้อดีที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ โลกได้ และเป็นข้อเสียหากมันถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

เช่น การปลอมแปลงอัตลักษณ์เพื่อฉ้อโกง ใส่ร้ายป้ายสี สร้างสื่อลามกเท็จสําหรับการแบล็กเมล์ ไปจนถึงการใช้ Deepfake เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

การศึกษาเรื่อง Deepfake จึงเป็นเหมือนการแข่งขัน ที่สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ต้องเร่งมือพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบได้ว่าภาพที่เห็น เป็นภาพที่เกิดจาก AI หรือเป็นภาพของคนจริง ๆ

เพราะในเวลานี้ สายตาของมนุษย์เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะสู้กับ AI ได้อีกต่อไป